การเพิกถอนการชำระบัญชีเสร็จสิ้น ทำอย่างไร  #ทนายธีรเมศร์
08
สิงหาคม
โดย: Tanaysocial 0 ความเห็น

การเพิกถอนการชำระบัญชีเสร็จสิ้น ทำอย่างไร #ทนายธีรเมศร์

 

หากมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ทุกปัญหามีทางออก
#
ปรึกษากฎหมาย
โทร 02-194-4707 , 095-169-9998
#
ทนายธีรเมศร์/ทนายเบล
หรือสามารถส่งข้อความที่ต้องการสอบถาม มายังไลน์ (Line) เพียงกดเพิ่มเพื่อน ด้านล่างนี้ได้เลย




การขอให้เพิกถอนการชำระบัญชีบริษัท และตั้งผู้ชำระบัญชี 

 

 

           บริษัทหรือผู้ชำระบัญชีได้จดทะเบียนเลิกบริษัท และเสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียนไปแล้ว ภายหลังมาพบว่าบริษัท มีทรัพย์สินหลงเหลือที่ยังไม่ได้จัดการ เช่นเงินฝากในบัญชี ที่ดิน หรือรถยนต์ซึ่งยังไม่ได้นำทรัพย์ดังกล่าวมาแบ่งปัน หรือนำมาชำระบัญชี ทำให้ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ บริษัทได้รับความเสียหาย เพราะไม่สามารถนำทรัพย์สินมาแบ่งให้กับผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวได้ จึงถือเป็นข้อบกพร่องทางแก้ให้ผู้ชำระบัญชี หรือผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี พร้อมตั้งให้ตัวเองเป็นผู้ชำระบัญชีเพื่อจัดการให้เสร็จสิ้นต่อไป

 

เหตุที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตได้ คือ เพื่อความยุติธรรม บริษัทมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินจำเป็นต้องบริหารจัดการหรือทำนิติกรรมตามกฎหมาย เราสามารถยื่นคำร้องไปที่ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม แล้วแต่ว่าเราจะใช้สิทธิแบบไหน

 


ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง
1.ผู้ชำระบัญชี
2. กรรมการ , ผู้ถือหุ้น , หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด 
3.  เจ้าหนี้

 

 

เอกสารที่ต้องเตรียม

1. หนังสือรับรองนิติบุคคลบริษัท / ห้างหุ้นส่วน รับรอบไม่เกิน 1 เดือน

2. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แบบ บอจ.5 รับรองไม่เกิน 1 เดือน  รายการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วน

3. รายงานการชำระบัญชี

4. งบแสดงฐานะการเงิน

5. สำเนาบัตรประชาชนผู้ชำระบัญชี

6. หนังสือให้ความยินยอม พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกรรมการ / หุ้นส่วน

7. รายการทรัพย์สินของนิติบุคคล (ถ้ามี) เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.3ก ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ บัญชีเงินฝากธนาคาร เงินวางประกัน เป็นต้น

 

 

ค่าธรรมเนียมศาลและระยะเวลาดำเนินการ

1ค่าขึ้นศาล 200 บาท

2. ค่าส่งหมายนัดไต่สวนและสำเนาคำร้องให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ประมาณ 400-600 บาท

3. ค่าประกาศโดยวิธีลงโฆษณาผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ E-Notice system ฟรี

4. ค่าส่งหมายนัดไต่สวนและสำเนาคำร้องให้ ผู้ถือหุ้น คนละ 500-700 บาท ตามราคาที่ศาลกำหนด

5 ระยะเวลาดำเนินการกรณีไม่มีผู้คัดค้าน ประมาณ 3-5 เดือน

 

 

 

สิ่งที่จะได้หลังจากที่ศาลมีคำสั่งและต้องนำส่งนายทะเบียน 

1. สำเนาคำสั่งศาล พร้อมเจ้าหน้าที่ศาลรับรอง

2. สำเนาหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด พร้อมเจ้าหน้าที่ศาลรับรอง

ภายหลังการยื่นเรื่อง 1 สัปดาห์ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะแก้ไขสถานะนิติบุคคลให้ โดยจะระบุว่า "ยังดำเนินการกิจการอยู่" และแจ้งนายทะเบียนด้วยว่าให้ระบุชื่อผู้ชำระบัญชีด้วย มิฉะนั้นไปติดต่อหน่วยงานรัฐจะถูกปฏิเสธได้

 

 

 

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ผู้ชำระบัญชีในฐานะผู้ร้อง ยื่นเป็นคำร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3302/2553

   ผู้ร้องเคยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่ก็มิได้หมายความว่าหากได้จดทะเบียนแล้ว หากมีเหตุจำเป็นขัดข้องจากการชำระบัญชีกิจการของบริษัทแต่เดิมแล้วจะมีการชำระบัญชีเพิ่มเติมใหม่อีกไม่ได้ ซึ่งก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดห้ามไว้ นอกจากนี้หากกรณีมีมูลเหตุข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าหลังจากจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ผู้ร้องตรวจสอบพบว่ายังมีที่ดินที่บริษัท ย. ถือกรรมสิทธิ์อยู่อีก 2 แปลง กรณีจะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัทที่ยังคงหลงเหลืออยู่โดยมิได้มีการชำระบัญชีด้วยวิธีการเช่นใด ในเมื่อบริษัทมิได้ยังคงตั้งอยู่แต่สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลไปแล้ว และย่อมกระทบกับสิทธิที่จะได้รับแบ่งคืนทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นอีกด้วย ดังนั้น คดีมีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

 

 

ประเด็น : เจตนารมณ์ของกฎหมาย นิติบุคคลจะเลิกกันต้องเป็นการชำระบัญชี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2553

   ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี" กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า "หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น" บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมุติจะเลิกได้นั้นจะต้องมีการชำระบัญชี เพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี จึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีนิติสัมพันธ์กับนิติบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกิน 80,000 บาท แก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำ เช่น ต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชีหรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น ในการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทแก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริต มีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง

   การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้

   โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) (มาตรา 1273/4 ตามที่แก้ไขใหม่) ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1246 (1) (มาตรา 1273/1 ตามที่แก้ไขใหม่) จึงต้องกำหนดให้นายทะเบียนมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาเลิกบริษัทเอง

 

 

 

ประเด็น : โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนได้ เมื่ออยู่ระหว่างดำเนินคดีแล้วจำเลยจดทะเบียนเลิก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6759/2561

   เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ระหว่างฟ้องคดีเรียกให้บริษัทรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิด ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว บริษัทลูกหนี้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้ เจ้าหนี้จึงมาเป็นโจทย์ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อบริษัทถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิด แม้ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับความรับผิดของบริษัท แต่ก็เป็นหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นซึ่งต้องเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี การที่บริษัทยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท และต่อมาได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี โดยจัดส่งรายงานการชำระบัญชี ซึ่งรวมถึงงบการเงินเพื่อประกอบการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่บริษัทถูกฟ้องดำเนินคดีแพ่ง โดยไม่ปรากฏว่ามีการระบุหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นกรณีบริษัทถูกฟ้องและดำเนินคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี เชื่อได้ว่าการชำระบัญชี กระทำไปโดยไม่สุจริต ต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1270 วรรค 1 ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ให้ผู้ชำระบัญชีดำเนินการชำระบัญชีต่อไป โดยถือว่าบริษัทยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี

 

 

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.137/2552

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1249 ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี

มาตรา 1250 หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น

มาตรา 1259 ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

   (1) แก้ต่างว่าต่างในนามของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในอรรถคดีพิพาทอันเป็นแพ่งหรืออาชญาทั้งปวง และทำประนีประนอมยอมความ

   (2) ดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามแต่จำเป็น เพื่อการชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี

   (3) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

   (4) ทำการอย่างอื่น ๆ ตามแต่จำเป็น เพื่อชำระบัญชีให้เสร็จไปด้วยดี

***มาตรา 1270 เมื่อการชำระบัญชีกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสำเร็จลง ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชีแสดงว่า การชำระบัญชีนั้นได้ดำเนินไปอย่างใด และได้จัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นไปประการใด แล้วให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานนั้น และชี้แจงกิจการต่อที่ประชุม

   เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้ให้อนุมัติรายงานนั้นแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำข้อความที่ได้ประชุมกันนั้นไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุม เมื่อได้จดทะเบียนแล้วดังนี้ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 เบญจ คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล

 

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

บริษัท ทนายโซเชียล จำกัด

อาคารศรีประจักษ์ เลขที่ 2 ห้อง 101 ซอยลาดพร้าว 120

ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง

กรุงเทพมหานคร 10310

โทร 02-194-4707 , 095-169-9998

 

หรือช่องทาง

. เว็บบอร์ด  >>> https://www.tanaysocial.com/forum

. แฟนเพจ >>>  https://www.facebook.com/tanaysocial/

. ส่งคำถามหน้าเว็บไซร์ >>> https://www.tanaysocial.com/

ไปที่หัวข้อ  "ส่งคำปรึกษามาถามเราสิ

. ไอดี Line คลิก

การเพิกถอนการชำระบัญชีเสร็จสิ้น ทำอย่างไร  #ทนายธีรเมศร์

0 ความเห็น

แสดงความเห็น