ความแตกต่าง และเหมือนกัน ระหว่าง “สินสอด” กับ “ของหมั้น”
หากมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ทุกปัญหามีทางออก
ปรึกษากฎหมายฟรี
โทร 02-194-4707 , 095-169-9998
ทนายธีรเมศร์/ทนายเบล
หรือสามารถส่งข้อความที่ต้องการสอบถาม มายังไลน์ (Line) เพียงกดเพิ่มเพื่อน ด้านล่างนี้ได้เลย
คำว่า “สินสอด” ในทางกฎหมาย มีความหมายว่า ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่ง ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
ดังนั้น คำว่าสินสอด ต้องเป็นทรัพย์สินที่ “ฝ่ายชาย” มอบให้กับ “บิดามารดา” ของฝ่ายหญิง เพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้หญิงยินยอมสมรสด้วย เท่านั้นจึงจะเรียกว่าสินสอด หากไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้กับบิดามารดาของฝ่ายหญิง ไม่ถือว่าเป็นสินสอด และ สินสอดไม่จำเป็นต้องมอบให้ในขณะที่มีการสมรส ฝ่ายชายสามารถมอบให้ก่อนสมรส หรือ หลังสมรสก็ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 ได้บัญญัติความหมายของคำว่า ทรัพย์สินไว้ว่า รวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ และมาตรา 137 ได้นิยามคำว่าทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
ความหมายของคำว่า ทรัพย์สินที่จะส่งมอบให้กับบิดามารดาของฝ่ายหญิง จึงหมายถึง วัตถุที่มีรูปร่าง และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ เช่น บ้าน , รูปภาพ , ที่ดิน , หนังสือรับรองการทำประโยชน์ , โฉนดที่ดิน , สิทธิการเช่า , สิทธิครอบครอง , ลิขสิทธิ , สิทธิบัตร , เครื่องหมายการค้า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752 - 780/2554 , 2705/2543 , 9544/2542)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2559 ขณะที่จำเลยที่ 1 มาสู่ขอบุตรสาวโจทก์นั้นได้นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทั้งหมดโดยใส่ชื่อบุตรสาวโจทก์เป็นผู้จะซื้อใส่พานมามอบให้ แต่ต่อมาไม่มีการซื้อขายที่ดินตามสัญญาดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการที่ ร. บุตรสาวโจทก์ยอมสมรสด้วย จึงไม่ใช่สินสอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม
ทั้งนี้ หากฝ่ายหญิง ประพฤติตนไม่ดี เช่นแอบมีกิ๊ก ไปเป็นชู้กับผัวชาวบ้าน ไม่ทำหน้าที่ของการเป็นคู่หมั้น คู่แต่งงานที่ดี ขี้เกียจสันหลังยาว หรือหนีออกจากบ้านไม่กลับมา ฝ่ายชายสามารถฟ้องขอเรียกเงินสินสอดจากบิดามารดาของฝ่ายหญิงคืนได้ เพราะการกระทำของฝ่ายหญิงถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ชายไม่สมควรสมรสกับฝ่ายหญิง และเหตุที่ไม่สมควรสมรสเกิดขึ้นแก่ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5973/2533 การที่โจทก์หมั้นและแต่งงานตามประเพณีกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมต้องการอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแม้จะไม่ปรากฏว่าได้พูดกันถึงเรื่องการจดทะเบียนสมรสก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 อยู่กับโจทก์เพียงคืนเดียว โดยโจทก์ไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 อ้างว่าเหนื่อยขอผัดเป็นวันรุ่งขึ้นครั้นวันรุ่งขึ้นโจทก์ต้องช่วยนำสิ่งของที่ใช้ในงานแต่งงานส่งคืนเจ้าของ ไม่มีเวลาว่าง จึงให้จำเลยที่ 1 นำชุดสากลไปคืนที่ร้านในเมือง จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่กินกับโจทก์อีกโดยไม่ปรากฏสาเหตุโจทก์ได้ออกตามหาตลอดมา แต่ไม่พบจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 เคยแสดงท่าทีไม่อยากกลับไปแต่งงานกับโจทก์พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 1 หลบหนีไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์และไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์.
หากเหตุที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเกิดขึ้นเพราะฝ่ายหญิงเป็นคนผิด ฝ่ายชายสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทน นอกจากของหมั้น หรือสินสอด จากฝ่ายหญิงได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 บัญญัติเรื่องค่าทดแทนไว้ ดังนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
"สินสอด" คือทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบทรัพย์สินให้กับบิดามารดาของฝ่ายหญิง ดังนั้น หากฝ่ายผู้ชายไม่มีทรัพย์สินมอบให้กับบิดามารดาของฝ่ายหญิงในขณะสมรส ฝ่ายชายสามารถทำสัญญากู้ยืมเงินมอบไว้ให้กับบิดามารดาของฝ่ายหญิง เพื่อเป็นการตอบแทนที่หญิงยอมสมรสกับฝ่ายชาย แทนการส่งมอบทรัพย์สินจำพวก เงิน ทอง รถยนต์ แทนก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 878/2518 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ไว้จริง และแทนเงินสินสอดซึ่งมีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้แก่มารดาโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า อันสินสอดนี้ตามกฎหมายเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ทั้งศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า หากมีข้อตกลงจะให้สินสอดต่อกันแล้วการให้สินสอดภายหลังการสมรสย่อมทำได้เพราะไม่มีอะไรห้าม ซึ่งไม่เหมือนกับของหมั้นอันจะต้องให้กันในเวลาทำสัญญาหมั้นคือก่อนสมรสฉะนั้นเมื่อบิดามารดาโจทก์จัดให้โจทก์และนายวิชาญ ทำพิธีแต่งงานกัน และโจทก์เต็มใจยอมสมรสแล้ว มารดาโจทก์ยังได้เตือนให้โจทก์และนายวิชาญ ไปจดทะเบียนสมรสอีก แต่ทั้งสองคนละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียน โดยว่าจะไปจดวันหลังก็ได้ ครั้นอยู่ด้วยกัน 3 เดือน ก็มีเหตุให้ต้องเลิกร้างกันไปโดยไม่ได้จดทะเบียนเช่นนี้ จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวย่อมไม่ได้ ชายเรียกสินสอดคืนไม่ได้ สัญญากู้ตามเอกสารศาลหมาย จ.1จึงมีมูลหนี้เนื่องมาจากเงินสินสอดดังกล่าวอันเป็นมูลหนี้ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อบิดามารดา โจทก์ได้ตกลงยกให้โจทก์และจำเลยยินยอมทำสัญญากับโจทก์เพราะมูลหนี้อันนี้แล้ว จำเลยย่อมต้องถูกผูกพันให้รับผิดตามสัญญากู้เงินที่แปลงหนี้ใหม่ ตามเอกสารศาลหมาย จ.1 ทุกประการ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ส่วน “ของหมั้น” นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1439 บัญญตัติไว้ว่า การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
จากคำนิยามดังกล่าว ของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ผู้ชายต้องส่งมอบให้กับฝ่ายหญิง โดยมอบให้ “เพื่อเป็นหลักฐานว่าอนาคตจะมีการจดทะเบียนสมรสกับผู้หญิง” เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สิน ให้ถือว่าทรัพย์สินทั้งเป็นของฝ่ายหญิงทันที การหมั้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์ หากอายุต่ำกว่า 17 ปี การหมั้น ถือว่าเป็นโมฆะ
การส่งมอบของหมั้นนั้น ต้องส่งมอบขณะทำการหมั้น จะส่งมอบก่อน หรือ หลังการหมั้น ไม่ได้ หากส่งมอบกก่อน หรือ หลัง ทรัพย์สินนั้น ไม่ถือว่าเป็นของหมั้น เป็นเพียงการให้โดยเสน่าเท่านั้น ดังนั้น ของหมั้นฝ่ายชายจึงไม่สามารถทำเป็นสัญญากู้ยืมเงิน มอบให้กับฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะสมรสกับหญิงนั้นเหมือนกับสินสอด เพราะสัญญากู้เงินถือเป็นการให้ทรัพย์สินหลังทำสัญญาหมั้น ฝ่ายหญิงไม่สามารถฟ้องให้ฝ่ายชายให้รับผิดตามสัญญากู้เงินเพื่อให้ส่งมอบของหมั้น ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1852/2506 จำเลยขอหมั้นน้องสาวโจทก์เพื่อให้แต่งงานกับบุตรจำเลย แต่จำเลยไม่มีเงิน จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ยึดถือไว้และโจทก์จำเลยตกลงกันว่าถ้าจำเลยปลูกเรือนหอ โจทก์จะลดเงินกู้ให้บ้างตามราคาของเรือนหอ ต่อมาจำเลยไม่ปลูกเรือนหอและบุตรจำเลยไม่ยอมแต่งงานกับน้องสาวโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ สัญญากู้ดังกล่าวนี้เป็นเพียงสัญญาจะให้ทรัพย์สินเป็นของหมั้นกันในวันข้างหน้า ยังไม่ได้มีการมอบทรัพย์สินให้แก่กันอย่างแท้จริง เจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาก็มิได้มุ่งต่อการให้ สัญญากู้ตกเป็นของอีกฝ่ายหนึ่งในสภาพของหมั้นและไม่มีความประสงค์ให้ตกเป็นสิทธิแก่หญิงเมื่อสมรสแล้วในกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่ามีการให้ของหมั้นกันตามกฎหมาย โจทก์จะฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้หาได้ไม่ เพราะสัญญากู้รายนี้ไม่มีมูลหนี้เดิมอันจะมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547 ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
ถึงแม้บางครั้งฝ่ายชายได้ส่งมอบทรัพย์สินให้กับฝ่ายหญิง ก็ไม่ถือเป็นการส่งมอบของหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงเสมอไป เพราะการให้ทรัพย์สินแก่ฝ่ายหญิงแต่ละครั้ง อันจะถือว่าเป็นของหมั้น นั้น ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายต้องมีเจตนา ที่จะทำการหมั้นด้วย หากฝ่ายชายส่งมอบให้ โดยฝ่ายชายและหญิงไม่มีเจตนาจะทำสัญญาหมั้นกัน สิ่งของ หรือทรัพย์สิน ดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นของหมั้น แต่เป็นการให้โดยเสน่หา เป็นการให้เพราะความรัก ความหวังดีต่อกัน ดังนั้นภายหลังการให้ทรัพย์สิน การหมั้นก็ไม่เกิดขึ้น หากภายหลังที่ฝ่ายหญิงได้รับทรัพย์สินไปแล้ว และได้ไปจดทะเบียนสมรสกับชายอื่น ชายคนแรกก็ไม่สามารถฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินที่มอบให้กลับคืนได้ ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลว่าเป็นของหมั้น หรือ เป็นการให้โดยเสน่าหา และฝ่ายหญิงประพฤติไม่เหมาะสม อันจะให้เป็นเหตุเนรคุณตามกฎหมาย ฝ่ายชายก็ไม่สามารถเรียกคืนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8954/2549 ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นได้
ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองจะคืนเงินสดและทองรูปพรรณที่ใช้ในพิธีหมั้นให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงาน ดังนั้น เงินสดและทองรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาแสดงในวันหมั้นเพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทั้งสองฝ่ายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงานจึงเป็นการส่งคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง มิใช่การฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2539 การที่จำเลยไปสมรสกับหญิงอื่นไม่ได้เป็นเหตุผลที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นคนไม่ดีแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลย ทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรงถึงขนาดจะถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา531(2)ได้การกระทำของจำเลย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการประพฤติเนรคุณโจทก์ เมื่อจำเลยไม่ประสงค์จะทำการสมรสกับ โจทก์ จำเลยก็ไปสมรสกับ หญิงอื่นได้ และ การที่จำเลยไปสมรสกับหญิงอื่นก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นคนไม่ดีแต่อย่างใด อีกทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ ต้องเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรงถึงขนาดจะถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2) ได้การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการประพฤติเนรคุณ โจทก์ เมื่อการกระทำของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติเนรคุณโจทก์แล้ว ปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ให้ ทรัพย์สินแก่จำเลยโดยเสน่หาหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษายืน
หากมีการหมั้น และได้ส่งมอบของหมั้นแก่กันตามกฎหมาย ต่อมามีเหตุที่ฝ่ายชาย หรือฝ่ายหญิง ไม่สมรสกับอีกฝ่ายได้ เช่นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไปมีอะไรกับคนอื่น มีกิ๊ก ไปฆ่าคน ด่าทออีกฝ่ายหนึ่งอันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ไปจดทะเบียนสมรสกับคนอื่น อีกฝ่ายหนึ่งสามารถบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ หากเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะผู้ชาย ผู้หญิงไม่จำต้องคืนของหมั้นให้แกฝ่ายชาย แต่หากเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะผู้หญิง ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นกลับคืนให้กับฝ่ายชายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1235/2506 ศาลฎีกาเห็นว่า
1. ได้ความว่าจำเลยได้กระทำเพียงนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานซึ่งนายฟุ้งขี่เพื่อไปดูภาพยนตร์ในเวลากลางคืน มีเพื่อไปด้วยกันรวม 7 คน แล้วบุคคลอื่นนึกเดาและลือกันว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนายฟุ้ง จะหาว่าจำเลยเป็นผู้ก่อความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนายฟุ้ง หรือเป็นผู้ก่อข่าวลือ ย่อมผิดความจริง จึงมิใช่เหตุผลสำคัญอันเกิดแต่หญิงจำเลยมิต้องคืนของหมั้น และที่โจทก์กล่าวว่า แม้จำเลยจะมิได้เสียหาย เพียงคำเล่าลือที่คนส่วนมากเชื่อก็เป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่งซึ่งหญิงจะต้องคืนของหมั้นนั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เชื่อถือได้ว่าคนเชื่อมีจำนวนเป็นส่วนมาก ที่ชาวบ้านล่ำลือกันเป็นลักษณะเพียงได้ยินเขามาก็ว่ากันต่อไป และเมื่อจำเลยมิได้เสียหาย จะถือเอาแต่เพียงที่ชาวบ้านได้ยินเขามาก็ว่ากันต่อไปนั้น ว่าการที่จำเลยไม่ยอมสมรสกับโจทก์มีเหตุผลสำคัญอันเกิดแต่หญิง ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลย จำเลยจึงมิต้องคืนของหมั้น
2. คดีฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า หลังจากมีข่าวลือว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับนายฟุ้งทางชู้สาวแล้ว โจทก์ก็ไม่ไปมาหาสู่จำเลย จนพ้นเวลาที่กำหนดไว้ก็ไม่มาแต่งงานหลังจากนั้นหลานจำเลยเคยให้ปลาโจทก์ ๆ ก็ว่ากระทบจำเลยว่า ไม่เอาปลาเน่าและขากเสลดต่อมาก็พูดฝากนางสาวซ้อนมาว่า อีลิ (จำเลย) มันคันหี ปล่อยมันคันอยู่นั้นแหละ เมื่อจำเลยถามโจทก์ ๆ ก็ว่าพูดฝากไปจริง และว่ามึงเสือกเดินหีบิดหีเบี้ยวมาหากูทำไม ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้อยคำที่โจทก์ด่าว่าจำเลยดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นการดูหมิ่นจำเลยซึ่งหน้า หรือจะเรียกว่าเป็นการสบประมาทจำเลยอย่างร้ายแรงก็เป็นการที่โจทก์หมิ่นประมาท จำเลยซึ่งเป็นการร้ายแรง ตามความหมายในมาตรา 1500(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั่นเองซึ่งแม้เป็นสามีภรรยากันแล้วกฎหมายก็ยังยอมให้เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ดังนั้น ในกรณีของโจทก์จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นคู่หมั้นกัน จำเลยจึงไม่ยอมสมรสกับโจทก์ เพราะมีเหตุผลสำคัญอันเกิดแต่โจทก์หมิ่นประมาทจำเลยซึ่งเป็นการร้ายแรง โดยจำเลยมิต้องคืนของหมั้นได้
สรุปได้ว่า ข้อแตกต่างระหว่าง ของหมั้น กับ สินสอด ได้แก่
ข้อ 1 “ของหมั้น” ต้องเป็นทรัพย์สินที่ “ฝ่ายชาย” มอบให้แก่ “ผู้หญิง” เพื่อประหลักประกันว่าในอนาคตจะสมรสกับหญิงนั้น และต้องส่งมอบทรัพย์สินขณะทำการหมั้นเท่านั้น ไม่สามารถส่งมอบก่อนทำสัญญาหมั้น หรือ หลังทำสัญญาหมั้น ได้
“สินสอด” เป็นทรัพย์สอนที่ “ฝ่ายชาย” มอบให้กับบิดามารดาของ “ฝ่ายหญิง” เพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้หญิงยินยอมสมรสกับฝ่ายชาย โดยจะส่งมอบสินสอด ก่อนสมรส ขณะสมรส หรือหลังสมรส ก็ได้
ข้อ 2.“ของหมั้น” ต้องเป็นทรัพย์สินที่ “ฝ่ายชาย” มอบให้กับ “ฝ่ายหญิง” ที่จะสมรสด้วยเท่านั้น
“สินสอด” ต้องเป็นทรัพย์สินที่ “ฝ่ายชาย” มอบให้กับ “บิดามารดาของฝ่ายหญิง” เท่านั้น
ความเหมือนกัน ระหว่าง ของหมั้น และสินสอด ได้แก่
“ของหมั้น” หากฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้น หรือประพฤติตัวไม่เหมาะสม ฝ่ายชายไม่สามารถเรียกของหมั้นคืนได้
“สินสอด” หากฝ่ายชายประพฤติตัวไม่เหมาะสม ฝ่ายชายไม่สามารถเรียกสินสอดจากบิดามารดากลับคืน
"ของหมั้น” หากฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้น หรือประพฤติตัวไม่เหมาะสม ฝ่ายชายสามารถบอกเลิกสัญญาหมั้น และขอให้หญิงคืนของหมั้นให้กับฝ่ายฝ่ายได้
“สินสอด” หากฝ่ายหญิงประพฤติตัวไม่เหมาะสม ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับฝ่ายชายได้ ฝ่ายชายสามารถเรียกสอดจากบิดามารดา กลับคืนได้
#อย่างไรก็ดี หากมีการจัดพิธีหมั้น และพิธีสมรสอย่างใหญ่โต มโหราน แต่ไม่ได้ไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขต หรือหน่วยงานราชการที่รับจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ก็ไม่ถือว่าเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิรับมรดก และอาจเสียสิทธิอื่นๆอีกมากมาย เพราะจะเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องจดทะเบียนสมรส เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องจัดพิธีมงคลสมรสอลังการก็ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้ว “เท่านั้น”
บายยยยยยยยย ^__________^ เจอกันบทความหน้า เรื่องสิทธิตามกฎหมายของสามี ภริยา
โดยทนายธีรเมศร์ โอฬารจิระภัสร์ (ทนายเบลล์)
ปรึกษากฎหมายเพิ่มเติม 02-194-4707 , 095-169-9998
หรือส่งข้อความมาสอบถามได้ที่
LineID: @tanaysocial (เติม@ด้านหน้าด้วย)
หรือสแกน QR:CODE
https://lin.ee/lp4HJqS
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/tanaysocial/
0 ความเห็น
แสดงความเห็น