ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร  ทำอย่างไร
26
กรกฎาคม
โดย: Tanaysocial 0 ความเห็น

ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ทำอย่างไร

หากมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ทุกปัญหามีทางออก

ปรึกษากฎหมายฟรี

โทร 02-194-4707 , 095-169-9998

ทนายธีรเมศร์/ทนายเบล    

หรือสามารถส่งข้อความที่ต้องการสอบถาม มายังไลน์ (Line) เพียงกดเพิ่มเพื่อน ด้านล่างนี้ได้เลย

เพิ่มเพื่อน

 

คดีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร #ทนายคดีฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร

   บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร แม้ทั้งคู่จะหย่าขาดจากกันแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรสิ้นสุดลง

   ในการหย่าโดยความยินยอม บิดามารดาสามารถกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ได้ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1522 วรรคหนึ่ง

   แต่หากทั้งสองฝ่ายมิได้ตกลงกันไว้ ต้องให้ศาลกำหนดจำนวนเงินให้ตามสมควร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1522 วรรคสอง

   ในกรณีที่ยังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา มารดา หรือตัวบุตรเอง สามารถขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร และจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูในคดีเดียวกันได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตร อ้างอิง ฎ.2268/2533

   ภาระหน้าที่ในการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 หากฝ่ายใดได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไปก่อนเพียงฝ่ายเดียว มีสิทธิฟ้องขอให้อีกฝ่ายจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร อีกส่วนครึ่งหนึ่งได้

   แม้บิดาหรือมารดาจะถูกถอนอำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

 

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ประกอบด้วย

» ค่าที่พักอาศัย

» ค่าอาหาร

» ค่าเสื้อผ้า ของใช้ที่จำเป็น

» ค่าศึกษาเล่าเรียน กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้

» ค่ารักษาพยาบาล ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร ค่าวัคซีน

» ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ

» ค่าใช้จ่ายประจำวัน

 

หลักเกณฑ์การกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นจำนวนเท่าใด

1. ศาลจะพิจารณาจากความสามารถและฐานะทางการเงินของผู้ให้และผู้รับ

   ฝ่ายผู้ฟ้องต้องแสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องมีฐานะมั่นคง อาชีพการงาน การศึกษา สภาพสังคม พฤติการณ์แห่งคดี รายได้ต่อเดือนประมาณเท่าไหร่ หรือมีรายได้อื่น ๆ อีกหรือไม่

2. ผู้ฟ้องต้องการเรียกร้องจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละเท่าใด บุตรมีค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

3. การกำหนดจำนวนเท่าใดนั้น ให้ศาลจะพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งกรณี เช่น อายุ ระดับการศึกษา สภาพสังคม

4. โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดเท่ากันเสมอไป

5. หากฐานะการเงิน พฤติการณ์รายได้ หรือความจำเป็นในการใช้เงินของบุตรเปลี่ยนแปลงไป สามารถขอแก้ไข ลด เพิ่ม จำนวน ในภายหลังได้ โดยยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่ง

6. สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู นั้นจะสละหรือถอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายบังคับคดี

7. จะชำระเป็นเงินหรือชำระเป็นอย่างอื่นก็ได้

8. กำหนดชำระรายเดือน รายไตรมาส รายปี แล้วแต่ความเหมาะสมและสอดคล้องกับรายได้ของผู้ให้

9. ตกลงให้ชำระก้อนเดียว ก็ได้

 

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tanaysocial.com/article/NjVMQHd5ZVItUyF0ZTIwMjA=

 

 

หน้าที่ให้การจ่ายอุปการะเลี้ยงดูบุตร ย่อมหมดไป ดังนี้

1. บุตรบรรลุนิติภาวะ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ยกเว้นทุพลภาพและยังหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้

2. ผู้ให้ ถึงแก่ความตาย หนี้ย่อมระงับไม่ตกทอดไปยังกองมรดก 

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง

1. สูติบัตร (ถ้ามี)

2. ใบสำคัญการหย่า และบันทึกท้ายการหย่า (ถ้ามี)

3. ใบทะเบียนรับรองบุตร (ถ้ามี)

4. บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน บิดา มารดา บุตร

5. ภาพถ่ายความสัมพันธ์ บิดามารดา(ถ้ามี)

6. ผลตรวจ DNA

7. เอกสารแสดงรายจ่ายของบุตร เช่น ตารางค่าเลี้ยงดู ใบเสร็จรับเงินค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล ค่าประกันชีวิต กิจกรรมเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ

8. เอกสารแสดงสถานะบิดามารดา เช่น ใบปริญญาบัตร หนังสือรับรองการทำงาน รายได้ รายการทรัพย์สิน เป็นต้น

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าขึ้นศาล คดีละ 200 บาท - ไม่คิดตามทุนทรัพย์ เพราะได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ มาตรา 155

2. ค่าส่งหมายให้จำเลย 500 - 800 บาท ตามระยะทางที่ระเบียบศาลกำหนด

 

เขตอำนาจศาล : ศาลเยาวชนและครอบครัวที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่

 

***สำคัญ หากศาลมีคำพิพากษาให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่ไม่ปฏิบัติ อีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกตัวมาสอบถามและตักเตือนได้ หากไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาล ศาลมีอำนาจออกหมายจับและสั่งกักขังจนกว่าจะนำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูมาชำระ แต่ไม่เกิน 15 วัน อ้างอิงตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 162

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tanaysocial.com/article/NTlMQHd5ZVItUyF0ZTIwMjA=

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ความรับผิดถือเป็นลูกหนี้ร่วม เมื่อไม่ชำระ อีกฝ่ายมีสิทธิฟ้องเรียกได้ ตาม          ป.พ.พ. มาตรา 296

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1691/2528

   บิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ในลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกันซึ่งต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน

   สามีภริยาหย่าขาดจากกันและตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของฝ่ายหนึ่ง โดยมิได้ตกลงกันว่าฝ่ายที่ปกครองบุตรนั้น จะเป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่ฝ่ายเดียว ดังนี้ ฝ่ายที่ปกครองบุตรย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่วันหย่าจนถึงวันฟ้อง เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมกันได้

 

ประเด็น : มารดาบุตรผู้เยาว์สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073/2539

   เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลย จำเลยในฐานะบิดาจึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีสิทธิฟ้องคดีนี้เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยแทนบุตรผู้เยาว์โดยคิดย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลยเพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมกันได้

 

ประเด็น : แม้โอนบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมบุคคลอื่นแล้ว ก็ยังสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้อยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2535

   โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้านายทะเบียนว่า จำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เป็นรายเดือน จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าว แม้ภายหลังที่ยื่นฟ้องแล้วโจทก์จะได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของสามีใหม่ แต่บุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่เกิดมา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1578/28 โจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้อง

 

ประเด็น : แม้คำพิพากษาจะถึงที่สุดไปแล้ว หากพฤติการณ์ รายได้ และฐานะได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาให้เพิกถอน ลด หรือกลับได้ โดยต้องยื่นมาในคดีเดิม จะฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540

   มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ในกรณีหนึ่งเท่านั้น เมื่อการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่า ว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยืดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1589/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป จึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tanaysocial.com/article/NTZMQHd5ZVItUyF0ZTIwMjA=

 

ประเด็น : หลักเกณฑ์การคำนวณจำนวนเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7108/2551 

   ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า บิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะทำนองเป็นลูกหนี้ร่วมกัน หาใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวไม่ ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การกำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายดังกล่าวอาจกำหนดโดยนิติกรรมสัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถึงแม้โจทก์และจำเลยจะแยกกันอยู่และโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยกับโจทก์ก็ตาม เมื่อมิได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเพื่อแบ่งส่วนตามความรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าค่าเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มีทรัพย์สินมากกว่าและโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยเพื่อปฏิเสธที่จะไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ แม้จำเลยจะได้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ดังที่จำเลยอ้างก็เป็นเรื่องให้การศึกษาซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าอุปการะเลี้ยงดู จำเลยก็จะนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเห็นสมควรเป็นจำนวนเพียงใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ทั้งศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลังได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39

   ทุนทรัพย์ที่จะนำมาคำนวณในการชำระค่าขึ้นศาลแต่ละชั้นศาลตามตาราง 1 (1) ท้าย ป.วิ.พ. ต้องเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในแต่ละชั้นศาล ส่วนทุนทรัพย์หรือจำนวนเงินที่จะต้องชำระหลังจากวันฟ้องในศาลชั้นต้นเป็นหนี้ในอนาคตไม่ถือเป็นทุนทรัพย์ที่จะนำมาคิดคำนวณเพื่อชำระค่าขึ้นศาล เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์คนละ 8,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้เป็นการพิพากษาให้ชำระหนี้ในอนาคตจึงไม่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาที่จะนำมาคิดคำนวณเป็นค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ การที่จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่าไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นระยะเวลาในอนาคตที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ก็ไม่ต้องด้วยตาราง 1 (4) ท้าย ป.วิ.พ. เพราะกรณีตามตาราง 1 (4) เป็นกรณีที่ขอให้ชำระ ดังนั้น อุทธรณ์และฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (2) (ก) คือ 200 บาท เท่านั้น แต่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเกินมา เห็นสมควรคืนค่าขึ้นส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย

 

ประเด็น : ไม่จำเป็นต้องฟ้องหย่า ก็เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552

   วัตถุประสงค์ของการสมรส ก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่า ก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู จึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่

 

ประเด็น : คดีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ไม่มีอายุความ ไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี (193/33(4)) และสิทธิเรียกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เริ่มนับตั้งแต่วันที่เด็กเกิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7345/2560

   โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,720,000บาท จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ได้ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว เพราะมิใช่การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จำเลยกลับอุทธรณ์ว่า คดีขาดอายุความตามมาตรา 1547 แทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ประเด็นนี้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยมิได้โต้แย้งโดยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ประเด็นอายุความจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้อายุความในคดีแพ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยต้องยกต่อสู้เป็นประเด็นตั้งแต่ในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยไม่ยกต่อสู้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงชอบแล้ว

   เดิม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล... (3) นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2551 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด บทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้เด็กมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูได้นับแต่วันคลอด และสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรวมกันมาเป็นคดีเดียวกับการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ทีเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขเพิ่มเติม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องจึงชอบแล้ว หาใช่นับแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยฎีกาไม่

   แม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1564 จะกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างเป็นผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่ากันก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าบิดามารดาต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเป็นจำนวนเท่าๆ กันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาปรับแก้ให้เท่ากัน โดยลดค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดให้รวม 1,370,000 บาท เหลือ 685,000 บาท เพราะการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 กำหนดให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งมาตรา 1598/39 ศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นหรือลดลงในภายหลังก็ได้ แม้โจทก์มิได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อนี้ แต่การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดได้ตามที่เห็นควร แม้คู่ความมิได้ขอ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด 1,370,000 บาท จึงชอบแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2562

   จำเลยที่ 1 เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งจำต้องอุปการะเลี้ยงดู พ. ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บทกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาการจ่ายไว้ และไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกำหนดระยะเวลาชำระไว้ ตามมาตรา 1598/40 วรรคหนึ่ง ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดู พ. ขณะที่เป็นผู้เยาว์ที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้ โดยอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 193/33 (4) อันจะอยู่ในอายุความ 5 ปี

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tanaysocial.com/article/MjhMQHd5ZVItUyF0ZTIwMjA=

ประเด็น : ค่าอุปการะเลี้ยงดู บิดาหรือมารดาจะสละสิทธิแทนบุตรไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6671/2545

   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ของบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ หากไม่อุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษา บุตรผู้เยาว์ย่อมฟ้องเรียกเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ตามมาตรา 1598/38 และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นก็จะสละมิได้ตามมาตรา 1598/41 ฉะนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาผู้เยาว์ไม่ยอมรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากโจทก์ผู้เป็นบิดาที่เสนอให้ ย่อมไม่ทำให้สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสียไป

 

ประเด็น : ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นสิทธิและหน้าที่เฉพาะตัว ไม่ตกทอดไปยังกองมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16040/2555

   ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 กำหนดถึงสิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาว่าจะสละหรือโอนไม่ได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี สิทธิหน้าที่เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวเช่นกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นอันสิ้นสุดลงไม่ตกทอดไปยังทายาท เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วสภาพบุคคลของโจทก์ก็หมดสิ้นไป ภาระหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นับแต่มีคำพิพากษาจนบุตรบรรลุนิติภาวะจึงยุติไปด้วย แม้โจทก์จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทไว้ก็ตาม หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ก็ไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 กองมรดกของโจทก์ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่จำเลยอีกต่อไป

 

ประเด็น : บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้ประโยชน์จากผู้ทำละเมิดบิดาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2543

   โจทก์เป็นผู้เยาว์เป็นบุตรของนางด. กับนาย ป. ผู้ตาย ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และผู้ตายก็ไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าโจทก์เป็นบุตรนายป. เพียงแต่ให้ใช้นามสกุลและให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564บิดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามมาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 เท่านั้น เมื่อนาย ป. ผู้ตายไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยผู้กระทำละเมิดเป็นเหตุให้นาย ป. ถึงแก่ความตาย กรณีดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ในเรื่องครอบครัวได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4มาใช้บังคับไม่ได้

 

ประเด็น : สามารถทำเป็นคำร้องหรือคำฟ้อง ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552

   การที่บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งโดยการยื่นเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่างหนึ่งอย่างใด มิได้พิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์

   ตามคำร้องขอของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว ยังขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของ ป. และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วย อันส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่ ป. ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และถือได้ว่าคำขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นคำขอรอง นอกจากนี้แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ ป. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง แต่ถ้าภายหลังพึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจ ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 (5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ด้วย ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องขอฉบับเดียวกันได้

   ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ ดังนั้น แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะกระทำขึ้นโดยชอบด้วยความสมัครใจของคู่กรณี ถ้าต่อมาพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tanaysocial.com/article/MTlMQHd5ZVItUyF0ZTIwMjA=

 

ประเด็น : ค่าเลี้ยงดูบุตรจะทำข้อตกลงให้สละสิทธิไม่ได้ ถือว่าขัดต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2556

   การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ตามบันทึกข้อตกลงในสำเนารายงานประจำวัน ระบุว่า โจทก์จะไม่เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยอีกนั้น ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการสละสิทธิที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 ข้อตกลงในส่วนนี้จึงใช้บังคับมิได้ จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ จึงต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3955/2563

   ตามรายงานกระบวนพิจารณาในคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์และมารดาโจทก์เป็นจำเลยทั้งสอง มีการตกลงกันให้ถอนฟ้องในคดีอาญาดังกล่าว แล้วโจทก์แถลงว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในคดีนี้ ซึ่งท้ายรายงานกระบวนพิจารณามีจำเลยทั้งสอง และทนายความของจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อ เชื่อว่าโจทก์มีทนายความเป็นที่ปรึกษาได้ทำความตกลงกับจำเลยโดยเข้าใจในสาระสำคัญของข้อตกลงแล้วว่า โจทก์จะไม่ติดใจเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในคดีนี้ แต่ทั้งนี้ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ.มาตรา 1598/41 บัญญัติว่า สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะสละหรือโอนมิได้....เช่นนี้ ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็นการสละสิทธิที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จึงใช้บังคับมิได้ แต่การที่โจทก์แถลงเช่นนั้นพอจะถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ใช้พิจารณาประกอบรายได้ ฐานะของโจทก์และจำเลยในการกำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ตามมาตรา 1598/39

   การยื่นฟ้องเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูในการดำเนินกระบวนพิจารณาย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155  ไม่มีค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาที่จะต้องสั่ง

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1522 ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด

   ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

   บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

มาตรา 1598/38 ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี

มาตรา 1598/39 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้

   ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียงอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้

มาตรา 1598/40 ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นให้ชำระเป็นเงินโดยวิธีชำระเป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงกันให้ชำระเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น ถ้าไม่มีการตกลงกันและมีเหตุพิเศษ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอและศาลเห็นสมควร จะกำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น โดยจะให้ชำระเป็นเงินด้วยหรือไม่ก็ได้

   ในกรณีขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เมื่อมีเหตุพิเศษและศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แก่บุตร จะกำหนดให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการใด ๆ นอกจากที่คู่กรณีตกลงกัน หรือนอกจากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอก็ได้ เช่นให้ไปอยู่ในสถานการศึกษาหรือวิชาชีพ โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูออกค่าใช้จ่ายในการนี้

 

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

มาตรา 162 ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงินมาวางศาลตามเงื่อนไขหรือระยะเวลาที่ศาลกำหนด ในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษามีรายได้ประจำ ศาลอาจสั่งให้อายัดเงินเท่าจำนวนที่จะชำระเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือค่าเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน แล้วให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินดังกล่าวนำเงินมาวางศาลแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา

   เมื่อความปรากฏต่อศาลเองหรือผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ร้องต่อศาลว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลเรียกตัวมาสอบถาม หากปรากฏเป็นความจริงให้ศาลว่ากล่าวตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล

   ในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาลตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจออกหมายจับและสั่งให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้จนกว่าลูกหนี้จะนำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพมาชำระหรือวางศาล แต่ห้ามมิให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ละครั้งเกินกว่า 15 วันนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว

มาตรา 161 เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำบังคับที่ไม่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา 159 หากความปรากฏต่อศาลเองหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้แทนหรือผู้มีส่วนได้เสียร้องต่อศาลว่าคู่ความหรือผู้ที่ถูกคำสั่งบังคับฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับ ให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับตัวมาไต่สวนและตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับของศาล หากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับอีกโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมีพฤติการณ์จงใจหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติ ให้ศาลมีอำนาจกักขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับแต่ห้ามมิให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่า 15 วันนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว

มาตรา 155 ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tanaysocial.com/article/NDdMQHd5ZVItUyF0ZTIwMjA=

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. การฟ้องคดีตามกฎหมายนี้ บิดาหรือมารดา เป็นโจทก์ในฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ไม่เป็นคดีอุทลุม

   แต่ถ้าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บรรลุนิติภาวะแล้ว ฟ้องคดีเองไม่ได้ ต้องให้พนักงานอัยการฟ้องคดีแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1565

2. ค่าเลี้ยงดู ควรใช้อายุเป็นเกณฑ์มากกว่าระดับชั้นการศึกษา

3. เมื่อมีข้อตกลงเรื่องค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเล่าเรียน และค่ารักษาพยาบาลบุตร ในสัญญาแล้ว จะมีอ้างเหตุภาระต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดกับภริยาคนใหม่ และมีหนี้สินมาอ้างเพื่อปัดความรับผิดไม่ได้

4. สามารถขอให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างดำเนินคดีได้ โดยวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา 

5. ปกติทั่วไปต้องรับผิดชอบร่วมกัน เว้นตกลงกันเป็นอย่างอื่น เช่นบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า

6. ภายหลังศาลได้มีคำพิพากษาให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระ โจทก์มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้

7. กรณีศาลมีคำพิพากษาให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่ไม่ปฏิบัติ อีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกตัวมาสอบถามและตักเตือนได้ หากไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาล ศาลมีอำนาจออกหมายจับและสั่งกักขังจนกว่าจะนำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูมาชำระ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธิพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 162

8. หนี้ตามคำพิพากษาให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น หากลูกหนี้เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ เจ้าหนี้สามารถขออายัดเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด ที่ทางราชการจ่ายให้ได้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 154 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 302

 

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

บริษัท ทนายโซเชียล จำกัด

อาคารศรีประจักษ์ เลขที่ 2 ห้อง 101 ซอยลาดพร้าว 120

ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง

กรุงเทพมหานคร 10310

โทร 02-194-4707 , 095-169-9998 

ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร  ทำอย่างไร

0 ความเห็น

แสดงความเห็น