พ่อแม่ โอนทรัพย์สินให้ลูก จะเรียกคืนภายหลังได้หรือไม่ เหตุที่จะเรียกร้องมีอะไรบ้าง
02
กุมภาพันธ์
โดย: Tanaysocial 0 ความเห็น

พ่อแม่ โอนทรัพย์สินให้ลูก จะเรียกคืนภายหลังได้หรือไม่ เหตุที่จะเรียกร้องมีอะไรบ้าง

หากมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ทุกปัญหามีทางออก

ปรึกษากฎหมาย

โทร 02-194-4707 , 095-169-9998    

หรือสามารถส่งข้อความที่ต้องการสอบถาม มายังไลน์ (Line) เพียงกดเพิ่มเพื่อน ด้านล่างนี้ได้เลย 

เพิ่มเพื่อน

 

"มารดาให้ทรัพย์สินลูกไปโดยเสน่หาแล้ว ภายหลังลูกประพฤติเนรคุณ มารดาสามารถเรียกคืนทรัพย์สินที่ให้ไปแล้วคืนได้หรือไม่"

 

เป็นอีกคำถามที่ทางลูกเพจสอบถามมาเยอะ ว่าการให้ทรัพย์สินไปโดยเสน่หาแล้วภายหลังผู้รับนั้นประพฤตอเนรคุณต่อผู้ให้ ทางผู้ให้สามารถเรียกทรัพย์สินคืนได้หรือไม่ และเรื่องนี้ตามกฎหมายว่าไว้อย่างไร

 

ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าการให้คืออะไร?

 

.การให้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 บัญญัติไว้ว่า อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น

 

เมื่อดูจากตัวบทกฎหมายแล้ว การให้ คือ สัญญาซึ่งมีคู่สัญญาสองฝ่าย โดยที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับ และทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาให้ มีการโอนและรับโอนทรัพย์สินอันเป็นวัตถุของสัญญา ด้วยเหตุนี้ความสำคัญของสัญญาให้จึงอยู่ที่การตกลงของเจตนาซึ่งผู้ให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้รับโดยไม่มีค่าตอบแทน และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น จึงเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน

 

เมื่อเราทราบแล้วว่าการให้คืออะไร ต่อมาเราต้องทราบว่า การให้ที่สามารถเรียกคืนการให้ได้นั้นมีอะไรบ้าง

 

ซึ่ง "ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531" บัญญัติไว้ว่า อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้

 

(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ

(2)  ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ

(3)    ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้

 

ที่นี้เรามาดูตัวอย่างของแต่ละวงเล็บกัน

(1) ตัวอย่างที่ 1 แม่ยกที่ดินให้กับลูก ปรากฏว่าเมื่อยกให้แล้วนั้น ลูกทะเลาะกับแม่จึงทำร้ายร่างกายแม่ โดยจิกผมและเอาหน้าแม่กระแทรกโต๊ะและบีบคอ แม้แม่จะไม่ได้รับอันตรายสาหัส ก็ต้องถือว่าลูก (ผู้รับ) ได้ประทุษร้ายแม่ (ผู้ให้) เป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญาแล้ว สามารถเรียกถอนคืนการให้ได้ ฎ.412/2528

 

(2) ตัวอย่างที่ 2 พ่อยกที่ดินให้กับลูก ปรากฏว่าเมื่อยกให้แล้วนั้น ลูกทะเลาะกับพ่อและด่าพ่อว่า “ไอ้แก่ กูไม่นับถือมึงเป็นพ่อ ออกไปให้พ้น ไม่ไปมึงตายกูไม่รับรู้” แบบนี้ถือว่า ลูก (ผู้รับ) ได้ทำให้พ่อ (ผู้ให้) เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรงแล้ว สามารถเรียกถอนคืนการให้ได้ ฎ.3502/2535

 

(3) ตัวอย่างที่ 3  พ่อยกที่ดินให้กับลูก ปรากฎว่าเมื่อยกให้แล้วนั้น พ่อเกิดล้มป่วยหนัก ไม่มีเงินพอรักษาจึงติดต่อไปยังลูกขอเงินเพื่อรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บ ลูกปฎิเสธทั้งๆที่ลูกสามารถช่วยเหลือได้โดยไม่ลำบากอะไร แบบนี้ถือว่า ลูก (ผู้รับ) บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่พ่อ (ผู้ให้) ในเวลาที่พ่อยากไร้และลูกสามารถจะให้ได้แล้ว สามารถเรียกถอนคืนการให้ได้ ฎ.3601/2542

 

ยังมีปัญหาต่อมาอีกว่าเมื่อเกิดเหตุประพฤติเนรคุณแล้ว ผู้ให้ต้องฟ้องร้องกันภายกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปีกันนะ ปัญหาในข้อนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 533 ได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดีท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่ อนึ่งท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น

 

สรุปง่ายๆ คือ เมื่อมีการให้แล้ว ภายหลังหากเกิดเหตุประพฤติเนรคุณ ถ้าผู้ให้ได้ให้อภัยในการกระทำของผู้รับแล้ว จะนำเหตุนั้นมาฟ้องเรียกทรัพย์สินที่ให้คืนไม่ได้ หากผู้ให้ไม่เคยให้อภัยผู้รับเลย ผู้ให้ต้องฟ้องร้องภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ผู้ให้ทราบเหตุประพฤติเนรคุณนั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากผู้ให้ไม่ทราบเลยว่าผู้รับประพฤติเนรคุณ เพิ่งจะมาทราบเมื่อผ่านเหตุการณ์ประพฤติเนรคุณแล้วมา 11 ปี ตามกฎหมายก็ห้ามฟ้องร้องโดยเหตุประพฤติเนรคุณนั้นเช่นกัน

 

การที่จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ผู้เป็นมารดาจนได้รับอันตรายแก่กาย ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยขาดความกตัญญู แม้โจทก์จะได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส ก็ถือได้ว่าจำเลยได้ประพฤติเนรคุณโดยประทุษร้ายต่อผู้ให้ เป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531(1) แล้ว โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้

 

 

 

 

บทความโดย นายอาทิตย์ สารบรรณ์

 

 

พ่อแม่ โอนทรัพย์สินให้ลูก จะเรียกคืนภายหลังได้หรือไม่ เหตุที่จะเรียกร้องมีอะไรบ้าง

0 ความเห็น

แสดงความเห็น