13
มกราคม
โดย: Tanaysocial 0 ความเห็น

"สัญญากู้" ผู้ให้กู้แก้ไขตัวเลขที่กู้กัน "โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้กู้" ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร

หากมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ทุกปัญหามีทางออก

ปรึกษากฎหมาย

โทร 02-194-4707 , 095-169-9998    

หรือสามารถส่งข้อความที่ต้องการสอบถาม มายังไลน์ (Line) เพียงกดเพิ่มเพื่อน ด้านล่างนี้ได้เลย 

เพิ่มเพื่อน

 

 ในการทำสัญญากู้กันนั้นหากผู้ให้กู้กรอกจำนวนเงินที่กู้ตามความเป็นจริง ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่เนื่องจากในชีวิตจริงนั้นยังมีผู้ให้กู้ที่มีความโลภ ต้องการเงินที่มากกว่าที่ตนให้ยืม ในบางครั้งผู้ให้ยืมจึงแก้ไขตัวเลขหรือหนักไปกว่านั้นอาจเพิ่มตัวเลขต่อท้ายหรือในบางครั้งผู้ให้กู้อาจนำสัญญากู้ที่เป็นแบบฟอร์มสำเร็จรูปโดยไม่มีรายละเอียดหรือจำนวนเงินที่กู้มาให้ผู้กู้เซ็นลอยไว้ และภายหลังผู้ให้กู้ก็ใส่ตัวเลขเกินความเป็นจริงไป

           

วันนี้ทนายความมีข้อกฎหมายในเรื่องการแก้ไขหรือเพิ่มเติมจำนวนเงินในสัญญากู้ ซึ่งทนายขอแบ่งเป็น 4 กรณี ดังนี้

 

1. แก้ไขจำนวนเงินในขณะที่เขียนสัญญากู้ กรณีอาจเกิดขึ้นได้เพราะอาจเขียนผิดพลาด

 

 ตัวอย่างเช่น กู้กัน 10,000 บาท แต่ทางผู้ให้กู้เขียนผิดเป็น 11,000 บาท ผู้ให้กู้จึงแก้ไขให้เป็น 10,000 บาท หรือ ในระหว่างที่กำลังเขียนตัวเลข 10,000 บาท นั้น ผู้กู้ขอกู้เพิ่มเติมหรือเปลี่ยนใจขอกู้น้อยลง ผู้ให้กู้จึงเขียนตัวเลขที่กู้เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามที่กู้กันจริง 

ดังนี้ ถือว่าสัญญากู้ฉบับนี้นั้นสามารถใช้เป็นหลักฐานในการกู้ยืมได้ แม้ผู้ให้กู้จะไม่ได้เซ็นกำกับในตอนแก้ไขตัวเลขก็ตาม ฎ.1154/2511

 

2. แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้เดิมเมื่อมีการกู้ยืมกันใหม่ ในกรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากเมื่อได้กู้ยืมเงินกันแล้วผู้กู้อาจจะมาขอกู้เพิ่ม และเนื่องจากผู้ให้กู้ไม่สะดวกหรืออาจเกิดจากเหตุใดก็ตามจึงไม่ทำเป็นสัญญากู้ฉบับใหม่ แต่ใช้วิธีการแก้ไขในสัญญากู้ฉบับเดิมแทน

 

ตัวอย่างเช่น เดิมกู้ยืมเงินกัน 10,000 บาท ทำสัญญากู้กันไว้ 10,000 บาท ภายหลังผู้กู้มาขอกู้เพิ่มเติมอีก 20,000 บาท ผู้ให้กู้จึงนำสัญญากู้ฉบับเดิมที่กู้กันไว้ 10,000 บาท มาขีดฆ่าจำนวนเงิน 10,000 บาทเดิมออกแล้วเขียนใหม่เป็น 30,000 บาท โดยผู้ให้กู้ไม่ได้เซ็นกำกับเอาไว

ดังนั้น สัญญากู้ฉบับนี้นั้นสามารถฟ้องร้องได้แค่ 10,000 บาท ที่ทำกันตอนแรก เนื่องจาก สัญญากู้ที่มีการแก้ไขนี้นั้น ถือว่าเป็นการกู้ที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ (มีหลักฐานเป็นหนังสือแค่ที่กู้กัน 10,000 บาท)  ฎ.326/2507

 

3. แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นโดยผู้กู้ไม่ยินยอม ในกรณีนี้อาจเกิดขึ้นเพราะความโลภหรือความโกรธของผู้ให้กู้

 

ตัวอย่างเช่น กู้ยืมเงินกัน 10,000 บาท และเขียนในสัญญากู้กัน 10,000 บาท ต่อมาผู้กู้ไม่ยอมชำระหนี้ ผู้ให้กู้โกรธจึงได้เขียนเติมเลข 1 หน้าตัวเลขที่เป็นจำนวนเงินที่กู้ในสัญญาเป็น 110,000 บาท แล้วนำมาฟ้อง

ดังนั้น สัญญากู้ฉบับนี้ถือว่าเป็นเอกสารปลอม แต่ผู้กู้ยังต้องรับผิดตามที่กู้กันจริงกล่าวคือรับผิด 10,000 บาท ไม่ใช่ไม่ต้องรับผิดเลย ฎ.1860/2523 , ฎ.3028/2527

 

4. สัญญากู้ไม่ได้กรอกจำนวนเงินที่กู้เอาไว้ กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากบางครั้งผู้ให้กู้นำสัญญากู้มาให้ผู้กู้เซ็นลอยเอาไว้โดยไม่ได้กรอกตัวเลขที่ก็เอาไว้

 4.1 ผู้ให้กู้กรอกจำนวนเงินที่กู้สูงกว่าที่กู้กันจริง

ตัวอย่างเช่น กู้ยืมเงิน 5,000 บาท โดยผู้กู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้แต่ในขณะนั้นยังมิได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ ภายหลังผู้ให้กู้จึงใส่จำนวนเงินที่กู้เป็น 50,000 บาท แบบนี้ถือว่าสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม และผู้กู้ไม่ต้องรับผิดเลย เนื่องจากไม่มีการกรอกจำนวนเงินที่กู้กันจริงมาตั้งแต่แรก ฎ.1532/2526 ฎ.431/2544

 

 4.2 ผู้ให้กู้กรอกจำนวนเงินตามที่กู้กันจริง

ตัวอย่างเช่น กู้ยืมเงิน 5,000 บาท โดยผู้กู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้แต่ในขณะนั้นยังมิได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ ภายหลังผู้ให้กู้จึงใส่จำนวนเงินที่กู้ 5,000 บาท ตามที่กู้กันจริง แบบนี้ถือว่าเป็นการใส่ตัวเลขที่กู้ที่มีมูลหนี้กันจริง แม้จะกรอกภายหลังจากที่ผู้กู้ลงลายมือชื่อ ก็สามารถใช้บังคับได้ (ผู้กู้รับผิดเต็ม 5,000 บาท) ฎ.7428/2543 ฎ.5685/2548

 

ดังนั้น ทนายจึงขอฝากเตือนทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ว่าในการกู้ยืมกันนั้นต้องมีความจริงใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นหนี้กันแล้วก็ต้องคืน และท้ายที่สุดนี้อย่าได้ให้บุคคลอื่นมากล่าวหาเราได้ว่า “เป็นมิตรยามกู้ เป็นศัตรูยามทวง”

 

 

0 ความเห็น

แสดงความเห็น