ขั้นตอนการคืนของกลาง ใครมีสิทธิขอคืนของกลาง
21
มีนาคม
โดย: Tanaysocial 0 ความเห็น

ขั้นตอนการคืนของกลาง ใครมีสิทธิขอคืนของกลาง

 

ปรึกษากฎหมาย

โทร 02-194-4707  , 095-169-9998

ทนายธีรเมศร์ (ทนายเบลล์)
หรือส่งข้อความมาสอบถามได้ที่
Line กดเพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อน
 

 

 

การขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบ กฎหมายกำหนดวิธีการขอคืนของกลางไว้ ดังนี้

 

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 36  "ในกรณีที่ #ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สิน ตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด
"

          

 

ประการที่ 1. จะต้องร้องขอภายในหนึ่งปีนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด ไม่ใช่นับแต่ศาลพิพากษา
คดีถึงที่สุดหมายถึง คดีแรกที่ขอริบ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2550  การขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด คำว่า "วันคำพิพากษาถึงที่สุด" ย่อมหมายความถึงคำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้เป็นกรณีเดียวกัน แต่ฟ้องคดีคนละคราวกัน ทรัพย์สินที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์สินรายเดียวกัน ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งรถยนต์กระบะของกลางจึงเป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นก่อนคดีนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลางในคดีนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีหลังที่จะสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางซ้ำอีก รถยนต์กระบะของกลางจึงมิใช่ของกลางในคดีนี้ที่ศาลจะพึงวินิจฉัยสั่งด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 และคดีดังกล่าวถึงที่สุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ผู้ร้องมายื่นคำร้องในคดีนี้ขอคืนรถยนต์กระบะของกลางเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องภายหลังวันที่คำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางถึงที่สุดแล้วเกิน 1 ปี คำร้องของผู้ร้องจึงต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36



ประการที่ 2. ทรัพย์สินนั้นจะต้องยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน ถ้าหากศาลใช้อำนาจตามมาตรา 35 คือให้ทำลายเสียย่อมขอคืนไม่ได้
 

 


          ประการที่ 3. จำเลยในคดีนั้นมาขอคืนไม่ได้ คงใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งว่าไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือไม่ควรริบเท่านั้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685/2541  ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36แม้จะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงห้ามจำเลยขอคืนของกลางที่ศาล สั่งริบก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องให้สิทธิแก่บุคคลภายนอก ซึ่งไม่ใช่จำเลยในคดีนั้นเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอคืนทรัพย์สิน ของกลางที่ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดมิใช่ให้สิทธิ แก่จำเลยในคดีที่จะใช้สิทธิเช่นนั้นได้ด้วย เพราะหากจำเลย เป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินของกลางและมิได้ รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จำเลยก็ย่อมมีสิทธิ นำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณาคดีนั้น เพื่อแสดงว่าจำเลย เป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดและมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลที่สั่งริบทรัพย์สินของกลางได้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีที่ศาลมีคำสั่งริบอาวุธปืนของกลางและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนอาวุธปืนของกลางได้


 

อ่านรายละเอียด เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เพิ่มเติม

คลิก https://www.tanaysocial.com/article/NjlMQHd5ZVItUyF0ZTIwMjA=

 

 


          ประการที่ 4. เจ้าของที่แท้จริงมาร้องขอได้ แม้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่ต้องรอให้ศาลพิพากษาให้ริบก่อน


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2514  ในคดีอาญาที่โจทก์มีคำขอให้ริบของกลางนั้น เจ้าของทรัพย์สินของกลางจะมีคำเสนอหรือคำร้องต่อศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาคดีนั้นก็ได้ ซึ่งศาลชั้นต้นจำต้องรับคำเสนอหรือคำร้องนั้นไว้เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยต่อไปตามมาตรา 33 วรรคท้าย หรือมาตรา 34 ในกรณีที่ศาลได้สั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ 34 แล้วเจ้าของอันแท้จริงมีสิทธิที่จะทำคำเสนอต่อศาลตามมาตรา 36 ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ก็ตามและถ้าปรากฏตามคำเสนอดังกล่าวว่าเจ้าของอันแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้น ศาลก็ต้องสั่งให้คืนทรัพย์สินแก่เจ้าของอันแท้จริงถ้าทรัพย์นั้นยังคงมีอยู่แต่คำเสนอนี้จะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเท่านั้น แต่ศาลชั้นต้นจะสั่งคืนของกลางได้ ต้องได้ความเสียก่อนว่าคดีหลักนั้นศาลใดศาลหนึ่งได้สั่งให้ริบของกลางแล้ว
 

 

       ประการที่ 5. การขอคืนของกลางตามมาตรา 36 ต้องเป็นกรณีที่คดีมีการฟ้องร้องกันที่ศาล ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานอื่นมีคำสั่งให้ริบโดยใช้อำนาจตามกฎหมายอื่น จะมาร้องต่อศาลขอคืนตามมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2531  การที่เจ้าของแท้จริงจะร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 โดยอ้างว่าตนเองมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วเท่านั้นเมื่อมิได้มีการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ร้องจึงจะมาร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องไม่ได้.
 

 


          ประการที่ 6. ในชั้นขอคืนของกลางมีปัญหาเฉพาะที่ต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วยหรือไม่เท่านั้น ดังนั้น ถ้าปัญหาว่าศาลชั้นต้นสั่งริบได้หรือไม่ ยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกปัญหาว่าตามกฎหมายริบไม่ได้ขึ้นมาในชั้นคำร้องขอคืนของกลางอีกไม่ได้ ศาลไม่รับวินิจฉัยให้

 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2547 (ประชุมใหญ่)  ในคดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนเรือของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่า ศาลจะสั่งริบเรือของกลางได้หรือไม่ยุติไปตามคำสั่งศาลในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนเรือของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2547) แต่ถ้าเนื้อหาในคดีหลักยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกายังพิพากษาลงในเนื้อหาคดีหลักเพื่อแก้คำพิพากษาของศาลล่างที่พิพากษาริบมาไม่ถูกต้องกับกฎหมายได้

 

 

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการขอจัดการมรดก เพิ่มเติม

คลิก https://www.tanaysocial.com/article/NjdMQHd5ZVItUyF0ZTIwMjA=

 


          ประการที่ 7. ถ้ามีกฎหมายพิเศษบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าห้ามนำมาตรา 36 มาใช้แล้ว ศาลจะนำมาตรา 36 มาใช้บังคับไม่ได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2543  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30,31 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สินของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้โดยเฉพาะ การดำเนินกระบวนพิจารณาจึงต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง และศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยที่ 1 โดยชอบ ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ผู้ร้องได้แถลงเพื่อให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องโดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องและได้ส่งหมายนัดให้จำเลยที่ 1 โดยชอบการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
             

การดำเนินคดีขอริบทรัพย์สินในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 อันเป็นกระบวนการพิเศษ พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแตกต่างไปจากการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาทั่วไป กล่าวคือตามมาตรา 30 วรรคสอง จะมีบุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของทรัพย์สินก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 30 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลชั้นต้นสั่งริบทรัพย์สินได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามมาตรา 30 วรรคสองส่วนกรณีมีบุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านตามมาตรา 30 วรรคสอง บุคคลที่ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีอาจจะเป็นจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือบุคคลอื่นที่อยู่นอกคดีดังกล่าวก็ได้ บุคคลที่ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีในกรณีนี้จึงไม่ได้เข้ามาในคดีในฐานะจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เข้ามาในฐานะอ้างว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์สิน การไต่สวนคำร้องของศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
         

การไต่สวนคำร้องที่ขอให้ริบทรัพย์สินในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีอัตราโทษที่ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลยหากกรณีมีบุคคลเข้ามาในกระบวนการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสอง และบุคคลดังกล่าวไม่มีทนายความ ก็ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ที่ศาลจะต้องตั้งทนายความให้ก่อนเริ่มพิจารณา แม้จำเลยที่ 1 จะมาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรก และในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 30 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาในกระบวนการที่กำหนดไว้ใน มาตรา 30 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องนัดแรกโดยไม่เลื่อนคดีไปนั้นชอบแล้ว

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดพรากผู้เยาว์

คลิก https://www.tanaysocial.com/article/MzhMQHd5ZVItUyF0ZTIwMjA=

 



          ประการที่ 8. ผู้ให้เช่าซื้อที่มาขอคืนของกลางที่มีผู้อื่นนำไปใช้ในการกระทำความผิด หากมีพฤติการณ์บ่งชี้ว่ามาร้องคืนของกลางเพียงเพราะประสงค์จะได้ค่าเช่าซื้อที่เหลือคืน โดยไม่สนใจว่าผู้เช่าซื้อจะนำรถของกลางไปทำอะไรบ้างแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่สมควรคืนให้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431/2543  ผู้ร้องในฐานะผู้ให้เช่าซื้อร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางที่ศาลสั่งริบเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ เพื่อให้ผู้เช่าซื้อได้รับรถยนต์บรรทุกของกลางคืนไปหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ร้องเองไม่ จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง
 

 

 


          ประการที่ 9. ถ้าชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว แม้ยังไม่โอนทางทะเบียน ผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่ใช่เจ้าของแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิร้องขอคืนของกลาง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2781/2548  ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ร้องครบทุกงวดแล้วแม้จะชำระค่างวดล่าช้าไม่ตรงกำหนด แต่ผู้ร้องก็รับค่าเช่าซื้อจนครบทุกงวดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ได้บอกเลิกสัญญา ถือว่ากำหนดเวลาชำระเงินไม่เป็นสาระสำคัญ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อของกลางจึงตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อน แม้ตามข้อ 9 ของสัญญาเช่าซื้อจะให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยของเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและค่าใช้จ่ายในการไปเก็บเงินดังกล่าวได้ ผู้ร้องก็ต้องไปเรียกร้องเอากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ซึ่งก็ไม่แน่ว่าผู้ร้องจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวได้ตามสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ทั้งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เงื่อนไขที่จะไม่ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางตกเป็นสิทธิแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. แม้ผู้ร้องจะยังมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตามหนังสือแสดงการจดทะเบียน ผู้ร้องก็มิใช่เจ้าของแท้จริง จึงไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลาง แต่ถ้าเป็นการซื้อขายที่มีเงื่อนไขในการให้ชำระราคาไปให้ครบก่อน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอน ผู้ซื้อมาร้องขอคืนได้

 


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2551  ขณะที่ผู้ร้องและจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ของกลางกันจำเลยยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องยังค้างชำระราคาเป็นเงิน 50,000 บาท โดยจำเลยจะส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องในวันที่ได้รับชำระราคาส่วนที่เหลือ จึงเป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางยังไม่โอนไปจนกว่าผู้ร้องจะได้ชำระราคาและโอนทะเบียนกัน ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางที่แท้จริง ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36

 

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

บริษัท ทนายโซเชียล จำกัด

อาคารศรีประจักษ์ เลขที่ 2 ห้อง 101 ซอยลาดพร้าว 120

ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง

กรุงเทพมหานคร 10310

โทร 02-194-4707 , 095-169-9998 

 

หรือช่องทาง

1. เว็บบอร์ด  >>> https://www.tanaysocial.com/forum

2. แฟนเพจ >>>  https://www.facebook.com/tanaysocial/

3. ส่งคำถามหน้าเว็บไซร์ >>> https://www.tanaysocial.com/ 

ไปที่หัวข้อ  "ส่งคำปรึกษามาถามเราสิ

4. ไอดี Line คลิก

 เพิ่มเพื่อน

 

 

ขั้นตอนการคืนของกลาง ใครมีสิทธิขอคืนของกลาง

0 ความเห็น

แสดงความเห็น