การให้ผู้อื่นมีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยถือว่าการโอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01
04
กุมภาพันธ์
โดย: Tanaysocial 0 ความเห็น

การให้ผู้อื่นมีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยถือว่าการโอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01

 

 

ปรึกษากฎหมาย

โทร 02-194-4707  , 095-169-9998

ทนายธนกฤต เบ้าธรรม (ทนายเบลล์)
หรือส่งข้อความมาสอบถามได้ที่
Line กดเพิ่มเพื่อน

 

เพิ่มเพื่อน


ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/tanaysocial/
เว็บไซร์ https://www.tanaysocial.com/

 

 

 

 

พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ม. 39

 

พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าวระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า ปัจจุบันเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน รัฐจึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) นั้นจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่ ส. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นย่อมก่อให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีการทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ส่งมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้โจทก์เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยได้

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2553

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 192,000 บาท หากไม่ชำระให้โจทก์เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินของนางเสือน หากไม่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

 

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 192,000 บาท แก่โจทก์ แต่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท คำขออื่นให้ยก

 

 

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินของนางเสือนเลขที่ 2543 นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กรกฎาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

 

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 เลขที่ 2543 หรือไม่ ที่ด้านหลังของ ส.ป.ก. 4 - 01 ระบุเป็นตัวอักษรสีแดงว่าห้ามแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่น และด้านล่างมีข้อความว่าเกษตรกรผู้ได้รับเอกสาร ส.ป.ก. 4 - 01 มีหน้าที่ปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้ผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเนื้อที่ที่ได้รับจาก สปก. ต่อจากนั้นมีข้อความเพิ่มเติมอีกว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก.เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งข้อความดังกล่าวนั้นเป็นข้อความจากพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39

 

 

นอกจากนี้ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีเจตนารมณ์ตามหมายเหตุระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพในการเกษตร ที่ดินจึงเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นรากฐานเบื้องต้นของการผลิตทางเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันปรากฏว่าเกษตรกรกำลังประสบความเดือดร้อนเนื่องจากต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินและกลายเป็นผู้เช่าที่ดินต้องเสียค่าเช่าที่ดินในอัตราสูงเกินสมควรที่ดินขาดการบำรุงรักษาจึงทำให้อัตราผลิตผลเกษตรกรรมอยู่ในระดับต่ำ เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมและเสียเปรียบจากระบบการเช่าที่ดินและการจำหน่ายผลิตผลตลอดมา ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะความยุ่งยากทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การปกครองและการเมืองของประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วนที่สุด เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด พร้อมกับการจัดระบบการผลิตและจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรม เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนองแนวนโยบายแห่งรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคมตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น จากบทบัญญัติตามมาตรา 39 และหมายเหตุดังกล่าวจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 นั้นจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นย่อมก่อให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีการทำกินต่างดอกเบี้ย ศาลจึงมิอาจพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 ได้

 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

 

การให้ผู้อื่นมีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยถือว่าการโอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01

0 ความเห็น

แสดงความเห็น