เช็คเด้ง ฟ้องไม่ได้
“ข้อต่อสู้ลูกหนี้ คดีเช็คเด้ง”
ผมเชื่อว่าใครหลายๆคนเคยสั่งจ่ายเช็คให้เจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ หรือ การค้ำประกันหนี้ต่างๆ ไอ้ตอนสั่งจ่ายเงินในบัญชีเรามันก็มี แต่พอถึงวันที่ ที่กำหนดในเช็คนี้สิ “เงินม่ายยยยมี” แบบนี้เช็คเด้งขึ้นมา ลูกหนี้ก็คิดว่าซวยสิครับ โดนฟ้องเป็นคดีอาญาแน่นอน มีเหตุผลไหนบ้างที่ลูกหนี้จะเอาตัวรอดจากคดีเช็คเด้งได้บ้าง ผมอธิบาย ไว้ 6 ตัวอย่าง ดังนี้
1.เช็คฉบับดังกล่าวเราสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ที่เกิดการพนัน
ตัวอย่าง ลูกหนี้ติดหนี้พนันบอล เลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้พนันบอล เช็คเด้งขึ้นมา เจ้าหนี้ฟ้องให้เรารับผิดตาม พรบ. เช็ค ฯ ไม่ได้ (ฎีกาที่ 2493/2527)
2.ออกเช็คเพื่อประกันหนี้ โดยเรามิได้มีเจตนาจะใช้เช็คนั้นเพื่อเป็นการชำระหนี้
ตัวอย่าง ลูกหนี้ทำสัญญากู้ยืมเงิน 300,000 บาท ถูกต้องตามกฎหมาย เราออกเช็คให้เจ้าหนี้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ว่าหากถึงวันกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเมื่อไหร่ ลูกหนี้ไม่ชำระ ให้เจ้าหนี้ ให้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บได้เลย พอถึงวันกำหนดในเช็ค เช็คเด้งขึ้นมา อย่างนี้ลูกหนี้อย่างเราต่อสู้ได้ว่า เราสั่งจ่ายเช็คมีเจตนาเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน มิใช่สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน (ฎีกาที่ 734/2547, 1213/2545)
3.ขณะออกเช็ค ยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ แม้ภายหลังจะมีการทำสัญญากู้ยืมเงิน ก็เป็นการออกเช็คที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย
ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ลูกหนี้กู้ยืมเงิน จำนวน300,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2559 ลูกหนี้ออกเช็คสั่งจ่ายลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 เพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงิน โดยระบุข้อความในเช็คว่าเพื่อชำระหนี้เงินกู้ เมื่อถึงวันที่25 พฤศจิกายน 2559 เช็คเด้ง ขึ้นมา เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องตามพรบ.เช็คฯได้ (ฎีกาที่ 3722/2538)
4.ลูกหนี้ไม่ได้ลงวันที่ในเช็ค ภายหลังเจ้าหนี้เป็นผู้ลงวันที่ในเช็คดังกล่าวเอง เมื่อเช็คถึงกำหนดขึ้นเงิน เช็คเด้งขึ้นมา ลูกหนี้ไม่มีความผิดตามพรบ.เช็คฯ
เนื่องจาก เช็คไม่ลงวันที่ ถือว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบ มาตรา 989 จะให้สิทธิแก่ผู้ทรงจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น ก็เพียงแต่ให้เช็คนั้นมีรายการที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น หาเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ไม่ (ฎีกาที่ 755/2547)
5.เจ้าหนี้ฟ้องเมื่อพ้น 3 เดือน นับแต่วันที่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน โดยมิได้ร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวน คดีเขาดอายุความ เจ้าหนี้นำคดีมาฟ้องไม่ (ฎีกาที่ 914/2535)
6. ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คโดยนำดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดรวมเข้าไปในต้นเงินในเช็ค
ตัวอย่าง กู้ยืมเงิน 100,000 บาท ในสัญญากู้ระบุว่าลูกหนี้ยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ลูกหนี้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ไว้ล้วงหน้า โดยระบุตัวเลขในเช็คเป็นเงินจำนวน 120,000 บาท เมื่อธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน เป็นการที่จำเลยออกเช็คชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งจำนวนเงินส่วนหนึ่งในเช็คเป็นการชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย และจำนวนเงินอีกส่วนหนึ่งเป็นการชำระหนี้ในจำนวนเงินที่ต้องห้ามตามกฎหมายซึ่งไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยในเช็คฉบับเดียวกันและไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การกระทำของลูกหนี้จึงไม่เป็นความผิดตามพรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา4 เจ้าหนี้นำคดีมาฟ้อง ยกฟ้องแน่นอน (ฎีกาที่ 5529/2539)
โดยทนายธนกฤต เบ้าธรรม (ทนายเบลล์)
ปรึกษากฎหมายเพิ่มเติม 02-194-4707 , 088-947-5647 , 095-169-9998
หรือส่งข้อความมาสอบถามได้ที่
Line กดเพิ่มเพื่อน
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/tanaysocial/
0 ความเห็น
แสดงความเห็น