ผู้เช่าซื้อ ขายรถยนต์ ตกลงให้ผุู้ซื้อ ผ่อนต่อกับไฟแนนซ์
14
เมษายน
โดย: Tanaysocial 0 ความเห็น

ผู้เช่าซื้อ ขายรถยนต์ ตกลงให้ผุู้ซื้อ ผ่อนต่อกับไฟแนนซ์

กรณี "ผู้เช่าซื้อ"  ขายรถยต์ให้แก่บุคคลอื่น  แม้ไม่ได้รับความยินยอมจาก "ไฟแนนซ์" ก็ตาม
เมื่อ "ผู้ซื้อ" ได้ยักยอกรถยนต์ไป ทั้งผู้เช่าซื้อและไฟแนนซ์ เป็นผู้เสียหาย สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้

 

     เศรษฐกิจช่วงนี้ ขายอะไรได้ก็ขาย เอาเงินมาหมุน ส่วนหนึ่งที่พวกเราจะขายกัน ก็คือรถยนต์   มีใครรู้สิทธิและหน้าที่ของตัวเองในกรณีที่เราขายดาว หรือขายรถยนต์ แล้วให้คนที่ไปซื้อไปผ่อน กับไฟแนนซ์ หากผ่อนครบตามสัญญา ให้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ไปยังผู้ซื้อรายใหม่ทันที
คิดเล่นๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ผ่อนครบก็จบ

 

แต่ความเป็นจริง มีปัญหามากกับเรื่องแบบนี้ เพราะคนที่ซื้อรถยนต์ไป ผ่อนได้ไม่กี่งวด ก็นำรถยนต์ของเราไปขายดาวน์ต่อ คนที่รับซื้อ ก็ผิดนัดไม่จ่ายค่างวดกับไฟแนนซ์  เราที่มีชื่อกับไฟแนนซ์ ก็ถูกไฟแนนซ์โทรตามค่างวด ค่าติดตาม โทรข่มขู่ที่ทำงาน เลวร้ายที่สุด ถูกไฟแนนซืฟ้องให้ส่งมอบรถยนต์
ถ้าหากผู้ซื้อนำรถยนต์ ไปขายให้กับบุคคลภายนอก โดยที่เราไม่ได้ให้ความยินยอม เราในฐานะผู้เช่าซื้อ รวบรวมหลักฐานไปแจ้งความดำเนินคดี ข้อหา "ยักยอกทรัพย์" ได้ทันที  เพราะถือว่าเราเป็นผู้เสียหาย ส่วนเรื่องการค้างค่างวดรถ  เราก็ยังมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อ



  "กรณีที่ไปแจ้งความ และเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้ไฟแนนซ์ทำหนังสือมอบอำนาจมาให้เรา เพื่อให้เรามีอำนาจในการดำเนินคดี ให้ท่านปริ๊นบทความนี้ไปให้ตำรวจท่านนั้นดู เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินคดี เพราะเราแจ้งความดำเนินคดีโดยอาศัยสิทธิของเรา ไม่ได้อาศัยสิทธิของไฟแนนซ์ ในการดำเนินคดี"

 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1548/2535
โจทก์ร่วมเช่าซื้อรถยนต์คันที่ถูกจำเลยลักไปมาจากผู้อื่นแม้ว่าขณะเกิดเหตุกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังไม่โอนมาเป็นของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่โจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อถูกจำเลยแบ่งการครอบครอง โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกา 1949/2559
การที่ผู้เสียหายตกลงขายรถที่เช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้บริษัท ช แทนผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญา เช่าซื้อ แม้จะไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท ช ผู้ให้เช่าซื้อ ก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่าผู้ให้เช่าซื้อ ยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อคนเดิมต่อไป ไม่มีผลทำให้ผู้เสียหายและบริษัท ช ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกรถที่เช่าซื้อไป

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556
จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

 

โดยทนายธนกฤต เบ้าธรรม (ทนายเบลล์)
ปรึกษากฎหมายเพิ่มเติม 02-194-4707 , 088-947-5647 , 095-169-9998
หรือส่งข้อความมาสอบถามได้ที่
Line กดเพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
เฟซบุ๊คแฟนเพจ
https://www.facebook.com/tanaysocial/
เว็บไซร์ https://www.tanaysocial.com/

 

 

ผู้เช่าซื้อ ขายรถยนต์ ตกลงให้ผุู้ซื้อ ผ่อนต่อกับไฟแนนซ์

0 ความเห็น

แสดงความเห็น