ที่ดินสปก หากได้สปก4-01 ก็อาจตกเป็นจำเลย ข้อหาบุกรุกได้
ถึงแม้จะได้สปก-401 แต่ถ้าไม่ได้เข้าทำประโยชน์ แต่มีคนอื่นเข้าทำประโยชน์แทน ท่านอาจตกเป็นจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557
การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงเลขที่ 18 ระวาง ส.ป.ก. กลุ่มที่ 3588 เลขที่ 6774 เล่ม 68 หน้า 74 อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 ตามสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน
โจทก์ร่วมเป็นบุตรของนายสงวน จำเลยเคยให้นายสงวนเข้าไปทำกินในที่ดินที่เกิดเหตุ เมื่อปี 2550 นายสงวนถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นโจทก์ร่วมครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุตลอดมา จำเลยเคยฟ้องขับไล่โจทก์ร่วมออกจากที่ดินที่เกิดเหตุ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด ตามสำเนาคำพิพากษา
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสงวนบิดาโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุตลอดมา ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเพิ่งเข้าไปครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างต้นเดือนมีนาคม 2555 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน แม้ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์เพราะยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้
ดังนี้ การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ตามฟ้องโจทก์ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ข้อสังเกต เรื่องนี้ แม้จำเลยได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตปฎิรูปที่ดิน แต่จำเลยยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินที่ได้จัดสรร โดยโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การที่จำเลยบุกรุกที่ดินดังกล่าว โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว
โดยทนายธนกฤต เบ้าธรรม (ทนายเบลล์)
ปรึกษากฎหมายเพิ่มเติม 02-194-4707 , 088-947-5647 , 095-169-9998
หรือส่งข้อความมาสอบถามได้ที่
Line กดเพิ่มเพื่อน
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/tanaysocial/
0 ความเห็น
แสดงความเห็น