ขั้นตอน และวิธีการรื้อฟื้นบริษัทร้าง
12
กุมภาพันธ์
โดย: Tanaysocial 0 ความเห็น

ขั้นตอน และวิธีการรื้อฟื้นบริษัทร้าง

ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้กลับจดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทคืนสู่ทะเบียน

    ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน เนื่องจากมิได้ทำการค้าหรือประกอบกิจการ และไม่ได้นำส่งงบการเงินต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทในทุกๆปี ติดต่อกันเกิน 3 ปี จะกลายเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทร้าง ผลคือสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่นายทะเบียนขีดชื่อออก ทำให้ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอีกต่อไป

   เมื่อประสงค์กลับคืนสู่ทะเบียน กรรมการหรือผู้ถือหุ้นจะต้องให้ทนายความจัดทำคำร้องยื่นต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียนบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน

 

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

1 ห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน

2 บริษัท กรรมการ ผู้ถือหุ้น

3 เจ้าหนี้ (กรมสรรพากร)

 

เหตุที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตได้ ดังนี้

1 ในขณะที่ถูกขีดชื่อออก ยังทำการค้าขายหรือยังประกอบกิจการอยู่ตามปกติ

2 เพื่อความยุติธรรม เช่น บริษัทมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ต้องการจดทะเบียนเลิกบริษัท ตั้งผู้ชำระบัญชี หรือเจ้าหนี้ต้องการฟ้องร้องบังคับคดี เป็นต้น (เป็นการใช้ดุลพินิจของศาลที่กว้างขวาง)

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

1 หนังสือรับรองนิติบุคคลบริษัท / ห้างหุ้นส่วน

2 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น(ฉบับยื่นไว้ล่าสุด)

3 รายการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วน

4 คำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครหรือจังหวัด เรื่อง ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัทออกจากทะเบียน

5 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกรรมการ / หุ้นส่วน

6 หนังสือให้ความยินยอมของกรรมการ / หุ้นส่วน / ผู้ถือหุ้น 

7 เอกสารยืนยันการดำเนินกิจการ เช่น ใบกำกับภาษีซื้อขาย ใบแจ้งหนี้ ใบส่งของ ใบเสร็จรับเงิน สัญญาว่าจ้าง เป็นต้น

8 รายการทรัพย์สินของนิติบุคคล (ถ้ามี) เช่น โฉนดที่ดิน ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ บัญชีเงินฝาก เป็นต้น

9 หลักฐานสิทธิเรียกร้องบุคคลภายนอก (ถ้ามี) เช่น เช็ค สัญญารับสภาพหนี้ เป็นต้น

10 หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2550

    บริษัทซึ่งเป็นลูกหนี้ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ทำให้ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรม เพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากนายทะเบียน แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นฟ้องกรรมการของบริษัทดังกล่าวในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ชำระหนี้ของบริษัทได้ เพราะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 ก็ตาม ก็หาเป็นการตัดสิทธิของเจ้าหนี้ของบริษัทที่รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรม เพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากทะเบียน จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บริษัทดังกล่าวกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทโดยตรงไม่

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1273/4 ถ้าห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใดๆของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น รู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เมื่อห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอใจว่า ในขณะที่ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้กลับคืนสู่ทะเบียนก็ดี ศาลจะสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้ และให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใดๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและบรรดาบุคคลอื่นๆ กลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย

    การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน

 

 

 

 

โดยทนายธีรเมศร์ โอฬารจิระภัสร์ (ทนายเบลล์)

ปรึกษากฎหมายเพิ่มเติม 02-194-4707 , 088-947-5647 , 095-169-9998

หรือส่งข้อความมาสอบถามได้ที่

LineID:  @tns23 (เติม@ด้านหน้าด้วย)

หรือกดเพิ่มเพื่อนเพิ่มเพื่อน

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/tanaysocial/

ขั้นตอน และวิธีการรื้อฟื้นบริษัทร้าง

0 ความเห็น

แสดงความเห็น